การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฏหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing)

Release Date : 26-08-2015 09:40:13

              รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการทำประมงผิดกฎหมายที่ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญระดับ ชาติที่ต้องแก้ไข โดยได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฏหมาย (Command Center for Combating Illegal Fishing or CCCIF) ขึ้นเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เป็นหน่วยเฉพาะกิจ (Task Force) ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี โดยมี ผบ.ทร. เป็น ผบ.ศูนย์ฯ มีหน้าที่ควบคุม สั่งการ กำกับดูแล และประสานการปฏิบัติทั้งปวงของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา การทำประมงผิดกฎหมาย โดยให้มีการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ให้สามารถปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างมีเอกภาพ ซึ่งขณะนี้ ศปมผ. ได้ปฏิบัติงานตลอด ๒๔ ชั่วโมง โดยมี ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (Thailand Maritime Enforcement Co-ordination Center - Thai MECC) ทำหน้าที่อำนวยการและควบคุมการปฏิบัติ

        สำหรับการดำเนินการของ ศปมผ. ซึ่งมี ผบ.ทร.เป็น ผบ.ศูนย์ฯ นั้น ขณะนี้ ทร. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประมง กรมเจ้าท่า ตำรวจน้ำ กรมศุลกากร และกรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง ดำเนินการแก้ปัญหา โดยมีกรอบการดำเนินการ ๖ ประเด็น ดังนี้

        ๑.  แก้ไข ปรับปรุง ร่าง พรบ.ประมง

        ๒.  ออกนโยบายการบริหารจัดการประมงทะเลของไทย (Fisheries Management Policy)

        ๓.  ปรับปรุงแผนปฏิบัติการแห่งชาติในการแก้ปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (National Plan of Action: NPOA - IUU)

        ๔.  มีระบบการติดตาม ควบคุมและเฝ้าระวัง (Monitoring, Control and Surveillance: MSC) / ระบบติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System: VMS) จัดทำแผนการตรวจตราการประมงระดับชาติ (National Inspection Plan) และปฏิบ้ติตามแผน National Inspection Plan

        ๕.  มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) รวมถึงใบรับรองการจัดสัตว์น้ำ (Catch certificate) ให้กรมประมง เริ่มดำเนินการในทันที

        ๖.  ปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์ในภาคประมง โดยมี กระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานหลัก และมีกรมประมง และกรมเจ้าท่า เป็นหน่วยงานสนับสนุน

        ในส่วนของการปฏิบัติในการจัดระเบียบและตรวจสอบเรือประมงนั้น ได้จัดตั้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า - ออก (Port in - Port out: PIPO) จำนวน ๒๘ ศูนย์  ประจำในพื้นที่จังหวัดชายทะเลทั้ง ๒๒ จังหวัด มีนายทหารจาก ทรภ.ต่างๆ เป็นหัวหน้าศูนย์ ทำงานร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมแรงงาน และตำรวจน้ำ โดยเรือประมงที่มีขนาด ๓๐ ตันกรอสขึ้นไป ก่อนจะออกไปทำการประมง และกลับเข้าเทียบท่า ต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า - ออกของเรือประมงที่กำหนด เพื่อให้มีการรายงานข้อมูลการทำประมงรวมถึงแรงงานบนเรือประมง ผลจับสัตว์น้ำจากสมุดบันทึกการทำประมง (Logbook) ตลอดจนบุคคลทำการประมงประจำเรือ (กัปตัน เจ้าของเรือ แรงงานบนเรือ) โดยจะต้องแจ้งก่อนเรือเข้า-ออก ไม่น้อยกว่า ๒๔ ชั่วโมง และข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ ที่เรือประมงแจ้งจะถูกนำไปใช้ตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งถือเป็นการสร้างกฎกติกาใหม่ภายใต้ระบบสากล

รูปภาพที่เกียวข้อง
ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง